ความคิดของคนนี่ซับซ้อนมาก และความคิดของเราก็ถูกครอบด้วยอะไรหลายอย่าง ก่อให้เกิดเป็นอคติทางความคิด แต่ส่วนใหญ่เรามองไม่ค่อยเห็นตัวเอง เลยคิดไปว่าสิ่งที่เราทำ เราคิดคือถูกต้อง

 อคติทางความคิดมีเยอะมากๆ แต่จากคลาส Unconscious bias ใน Linkedin Learning ได้ให้ความหมายๆของ bias ที่มี impact กับความคิดในการใช้ชีวิตไว้ 5 ตัวตามนี้

  1. Affinity Bias : อคติจากความเหมือนกันบางอย่าง เช่น คนนี้มาจากจังหวัดเดียวกัน เรียนจบที่เดียวกัน ทำงาน field เดียวกัน อคติอาจทำให้ตัดสินใจผิด เช่น การเลือกคนเข้าทำงาน เห็นจบมอเดียวกันต้องเก่งเหมือนฉันแน่ๆ สิ่งที่ทำได้คือทำ Standardization หรือสร้างมาตรฐานไว้ เพื่อเป็นมาตรวัดและกำจัดความคิดเอนเอียง
  2. Halo Effect: ยึดเอาความประทับใจแรกที่เห็นมาตัดสินทุกอย่าง เช่น คนนี้ present ดี พูดดี แต่งตัวดี ต้องทำงานดีแน่ ดังนั้นเมื่อจะประเมินคนไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องอื่นๆ ให้ดูการทำงานภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน นำผลลัพธ์ทั้งหมดมาดู ไม่เชื่อแค่ภาพจำภาพแรก
  3. Perception Bias: อคติที่สร้างสมมติฐานว่าหากเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันจะมีความเหมือนกัน ขอเรียกว่า “เหมารวม” เช่น จบมาจากที่มหาลัยนี้ ต้องเป็นคนแบบนี้แน่ๆ เป็นคนเหนือต้องผิวขาว พูดช้า สิ่งที่ทำได้คืออย่าเพิ่งด่วนตัดสินคนจากข้อมูลที่รู้เพียงนิดเดียว และให้ถามตัวเองว่าที่คิด ที่เห็นเป็นความจริง หรือความความคิดเห็น
  4. Confirmation Bias: อคติความคิดหาสิ่งต่างๆมายืนยันว่าความคิดเราถูกแล้ว ประมาณ “อุ้ยๆ นี่ไง เหมือนที่ฉันคิดเลย” แต่ป้าวว เราเลือกเสพข้อมูลต่างหาก อันไหนที่ใช่ ที่พูดเหมือนเรา เราก็อ่านก็เก็บไว้ เพื่อยืนยันว่าความคิดเราใช่ แต่อันไหนไม่เหมือน ก็ไม่อ่าน ไม่เชื่อ บอกว่าไม่ใช่ สิ่งที่ทำได้คือ ลองหาข้อมูลตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราคิด แล้วลองมองอีกมุมนึง เพื่อเห็นภาพที่กว้างกว่า เพราะอาจจะได้ความคิดใหม่ๆจากมุมมองที่ไม่เหมือนเราก็ได้
  5. Groupthink : การคิดโอนเอียงตามคนกลุ่มใหญ่ ภาษาบ้านเราเรียกว่า “อุปทานหมู่” คนเราเกิดมาเป็นสัตว์สังคม ต้องการการยอมรับ เป็น sense of belonging ไม่อยากจะแตกหมู่ แตกแยก ไม่เช่นนั้นจะเป็นอะไรเอ่ยไม่เข้าพวก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีใครคิดอะไรใหม่ๆ ว่าๆตามกัน คนส่วนใหญ่ว่าไงก็ว่าอย่างนั้น และที่สำคัญทำให้ไม่เกิดการพัฒนา และติดอยู่ใน comfort zone สิ่งที่ทำได้ คือ ลองตั้งคนนึงให้คอยเป็นคนแกล้งค้านไอเดีย และให้คนอื่นๆเสนอไอเดียที่แตกต่างมาเพิ่ม อีกอย่างนึงที่ทำได้คือ บล็อกเวลาไว้ให้สำหรับการประเมินความเห็น หรืออาจจะเชิญคนที่เป็นบุคคลที่สามที่ไม่อยู่ในกลุ่มเข้ามาช่วยฟังช่วยออกความเห็นได้

ทำไมเราถึงต้องเรียนรู้เรื่อง Bias หรืออคติทั้งหลายๆนี้ ?

เพราะเราจะได้ไม่หลงอยู่ในความคิด หรือเชื่ออะไรง่ายๆเพียงอย่างเดียว เรียนรู้เรื่องอคติจะทำให้เราเกิด self-awareness และตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เอ๊ะ !ที่เราคิดมันเป็นเรื่อจริง หรือ เป็นเพียงความคิดเห็น” ทำให้เราคิดได้ดีขึ้น ตัดสินใจได้ดีขึ้น

#แบ่งปันความรู้

#CriticalThinking

#CoachChom